วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
ผจญไพร ผจญภัย ในสวนผึ้ง พูดถึงสวนผึ้ง หลายคนคงนึกถึงแกะและรีสอร์ทสวย ๆ แต่วันนี้เราจะพามารู้จักสวนผึ้ง สถานที่ท่องเที่ยวที่มีอะไรมากกว่า แกะ
ผจญไพร ผจญภัย ในสวนผึ้ง (อ.ส.ท.)
ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์ เรื่อง
นัท สุมนเตมีย์ ภาพ
พูดถึงสวนผึ้ง ใครกันไม่นึกถึงแกะ และใครบ้างไม่นึกถึงรีสอร์ทสวย แล้วใครบ้างที่เห็นด้วยว่านั่นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของอำเภอชายแดนไทย-เมียนมาร์ ในเขตจังหวัดราชบุรี
ที่แท้แล้วเสน่ห์ของสวนผึ้ง คือ แหล่งธรรมชาติภายในโอบกอดของเทือกเขาตะนาวศรี ที่ยังคงสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า ท่ามกล่างอากาศสดสะอาด ทว่าความพิเศษเช่นนี้ อยู่ห่างจากกลุ่มรีสอร์ทเก๋ ๆ ลึกเข้าไปใกล้ชายแดนตะวันตกที่ดกดื่นด้วยต้นไม้เขียวครึ้ม ณ ที่นั่น ตัวตนที่แท้จริงของสวนผึ้งดำรงอยู่อย่างสงบงามมาเนิ่นนาน รอให้ผู้มาเยือนเดินฝ่าถนนสายขุนเขาเข้ามาสัมผัสด้วยสายตาและหัวใจ...ไม่ใกล้ ไม่ไกล ด้วยระยะทางเฉียด 200 กิโลเมตรจากเมืองกรุง
เที่ยวเรียนรู้ทริปนี้ไม่มีแกะ
ก่อนสวนผึ้งจะกลายเป็นดินแดนของแกะและรีสอร์ทแนวเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา อำเภอชายแดนนี้เคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกขนาดใหญ่ของประเทศไทย นับย้อนกลับไปเป็นร้อยปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีทั้งช่วงเฟื่องฟูและซบเซาสลับกัน จนกระทั่งราคาแร่ในตลาดโลกตกต่ำลงอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษ 2520 แล้วต่อมารัฐบาลไทยก็ยุติการให้สัมปทานเหมืองแร่ในสวนผึ้งเมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นการปิดฉากเมืองเหมือง ก่อนก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว พร้อม ๆ กับการค่อย ๆ เติบโตของสวนผึ้งในฐานะแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางขุนเขาและลมหนาวซึ่งอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านบ่อหวี ขึ้นใน พ.ศ. 2545 เพี่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหารและขยายผลสู่การค้าโดยไม่เน้นผลกำไร นั่นยังหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้าน ทั้งด้วยการได้ฝึกอาชีพและได้ทำงานในฟาร์มฯ แห่งนี้ มีทั้งงานในแปลงปลูกพืชผัก ไม้ผล สมุนไพร การเลี้ยงหมู เป็ด แพะ ปลา และทำอาหารสัตว์ ฯลฯ
"ท่านรักพวกเราค่ะ" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกล่าวด้วยน้ำเสียงและรอยยิ้มสดใส ขณะที่สองมือจัดผักสลัดลงถุงติดแบรนด์ "ศิลปาชีพ" อย่างคล่องแคล่ว
"ฟาร์มนี้ทำให้ชาวบ้านหลายคนมีงานท่า และได้กินของดี ราคาถูก อย่างเป็ดอี้เหลียงที่ฟาร์มเลี้ยงไว้นี่เนื้อเยอะ ไม่มีกลิ่นสาบ กินอร่อย ตัวละสองร้อยกว่าบาทเท่านั้นเองนะคะ แต่ตอนนี้เราลดจำนวนเลี้ยงลงแล้ว อาหารเป็ดแพง สู้ไม่ไหว ส่วนหมูจินหัว เรายังเลี้ยงเหมือนเดิมค่ะ"
เธอพูดถึงเป็ดและหมูพันธ์ดีที่รัฐบาลจีนน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เราจึงเอ่ยปากอยากเห็นตัวเป็น ๆ ซึ่งก็ไมใช่เรื่องยาก เพราะฟาร์มฯ แห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตอาหารและพื้นที่สาธิตการเกษตรแบบพอเพียง ทว่ายังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวเดินเขาไปชมพื้นที่ด้านในได้ในวันเวลาราชการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ หากติดต่อล่วงหน้าเพื่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลชนิดฟังเพลินเลยทีเดียว ขนาดเราไปเดินเที่ยวเองก็ยังสนุกกับการดูฝูงเป็ดอี้เหลียงที่รวมกลุ่มกระจุกกันอยู่ตามวัย กลุ่มลูกเป็ดเป็นหย่อมสีน้ำตาลนวล กลุ่มวัยรุ่น จะมีสีอ่อนจางลง ส่วนกลุ่มขนสีขาวสะอาดตัดกับปากและตีนสิเหลืองสดนั่นคือตัวโตเต็มวัย
สำหรับหมูจินหัวนั้นดูแปลกแตกต่างจากหมูทั่วไป ตรงที่หัวและทายเป็นสีดำ จึงมีชื่อเรียกง่าย ๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Two End Black ว่ากันว่า แฮมที่ทำจากเนื้อส่วนสะโพกของหมูจินหัวนั้นอร่อยมาก น่าเสียดายที่ทางฟาร์มฯ เพิ่งขายแฮมหมดไปเมื่อไม่นานนี้ กว่าจะได้กินอีกทีก็เดือนสองเดือนข้างหน้าโน่นเลย
เดินดูเป็ดเพลิน ๆ ก็ได้ยินเสียง "แบ๊ะ ๆ ๆ ๆ" ดังรัวอยู่ไม่ไกลจากโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไร้กลิ่นรบกวน เป็นเสียงของฝูงแพะนมพันธุ์หลาวซานที่ยื่นออกันอยู่บนโรงเรือนยกพื้นสูง แพะพันธุ์นี้ได้มาจากประเทศจีนเช่นกัน มันเป็นพันธุ์ที่มีนิสัยร่าเริง กระฉับกระเฉง โดยเฉพาะลูกแพะที่ดูจะสนุกกับการวิ่งขึ้นลงเนิน ราวกับไม่รู้จักเหนื่อย บางตัวก็แอบเอาจมูกดันประตูคอกออกมาวิ่งเล่น สักพักก็กลับเขาคอก ขึ้นโรงเรือน เหมือนเด็กหนีเที่ยวอย่างไรอย่างนั้นเลย
มาสวนผึ้งคราวนี้ไม่ได้ไปดูแกะเหมือนใคร ๆ แต่กลับมาเดินดูแพะร้องแบ๊ะ ๆ ซึ่งก็น่ารักไปอีกแบบ
เรายังสวนทางกับนักท่องเที่ยวมากมายในเรื่องที่พัก เพราะอยากเข้าหาธรรมชาติสวยสงบ แต่ก็สะดวกสบายพอดีกับตัวเอง จึงเลือกนอนเต็นท์ที่ผาปก อีโค รีสอร์ท ซึ่งเปิดให้บริการมาประมาณ 1 ปีแล้ว ทำเลที่ตั้งนั้นอยู่บนเนินชันตรงเชิงทางขึ้นเขากระโจม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยเรือนล็อบบี้หลังคามุงจาก สูงโปร่งและสวยเท่ บนเนินสูงขึ้นไปอีกนิด คือ เต็นท์พักขนาดใหญ่มาตรฐานระดับสากล เห็นแล้วรู้เลยว่าเจ้าของเป็นคนเอาท์ดอร์มีคุณภาพ เพราะเลือกสรรของดีมีสไตล์มาใช้งานได้อย่างลงตัวกับธรรมชาติ
"ผมอยากทำที่พักที่กลมกลืนกับสภาพรอบด้าน และทำกิจกรรมที่นำคนไปเรียนรู้ธรรมชาติ" คุณอั๋น พิสิฐ กองลำเจียก เจ้าของผาปกฯ บอกกล่าวถึงความต่างจากรีสอร์ทส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ รวมทั้งย้ำถึงความสำคัญที่เด็ก ๆ ควรได้ออกมาเรียนรู้และรักษาสิ่งแวดล้อม
ค่ำคืนแรกเราสัมผัสรับรู้การเขาถึงธรรมชาติกับการแรมคืนในเต็นท์อบอุ่น ใต้หลังคาฟ้าที่ดารดาษด้วยดาวระยิบระยับ ท่ามกลางความสงบเงียบจนได้ยินเสียงใบไม้เสียดสีเมื่อลมพัด ส่วนพรุ่งนี้เช้าเราจะก้าวเข้าสู่โอบกอดของผืนป่าและสายน้ำด้วยกิจกรรมสนุกที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ เป็นการผจญภัยในพงไพรที่ใช้ใจและกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน
ปั่น พาย ป่ายทางกลางพงไพร
ห่างจากผาปก อีโค รีสอร์ท ลงมาทางทิศใต้บนเส้นทางคดโค้งตามแนวขุนเขาที่นาน ๆ จะมีรถแล่นสวนหรือร่วมทาง ปรากฏภาพผืนป่าเขียวสดสูงตา ตามพื้นที่ตลอดทางที่รถแล่นผ่าน นาน ๆ จะมีบ้านเรือนตั้งอยู่ในร่มเงาของต้นไม้ หลังจากผ่านด่านหน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้งเข้ามาแล้ว เราก็เข้าสู่เขตหมู่บ้านพุระกำ อันเป็นหมู่บ้านลึกสุดของอำเภอสวนผึ้ง อยู่ห่างจากย่านรีสอร์ทในเมืองสวนผึ้งประมาณ 25 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยกะเหรี่ยง
"เรียกกะเหรี่ยงได้ครับ เราไม่โกรธ" หนุ่มน้อยคนหนึ่งบอกพร้อมยิ้มกว้าง "ที่สวนผึ้งมีกะหร่างด้วย เราไม่เหมือนกันตรงภาษาพูด"
ยิ่งไกลจากเมือง หนทางยิ่งแคบ และเปลี่ยนจากถนนลาดยางเป็นทางลูกรัง พร้อมกันนั้นต้นไม้ก็ดกดื่นให้เงาร่มรื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผ่านพ้นผืนป่าปลูกของ ปตท. ลึกเข้ามาจนคิดว่าไม่มีชุมชนใดตั้งอยู่แล้ว กลับปรากฏเรือนหลังย่อมและเขื่อนขนาดเล็กอยู่เบื้องหน้า ที่นี่คือพื้นที่ของ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านพุระกำ ซึ่งเราไม่ได้เข้าไปชมด้านในเหมือนเช่นที่ฟาร์มฯ บ้านบ่อหวี เพราะวันนี้เราจะสนุกกับกิจกรรมผจญภัยเบา ๆ
จักรยานถูกยกลงมาปั่น เส้นทางเหมือนง่ายแต่ท้าทายมือใหม่ เพราะต้องปั่นไปบนแนวเขื่อนที่มีน้ำใสไหลเรี่ย ซึ่งเมื่อผ่านพ้นมาก็ต้องขึ้นเนินเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับทีละน้อยไปตามทางลูกรังที่สองข้างทาง คือ ไร่ชาวบ้าน ปั่นเพลิน ๆ พอได้เหงื่อ ทางสายน้อยก็ลงเนินมาสิ้นสุดตรงจุดที่ลำน้ำภาชีใสแจ๋วไหลผ่าน
คราวนี้เป็นเวลาของคายักบ้างแล้ว ด้วยระดับน้ำใส ลึกไม่เกินเข่าในช่วงฤดูหนาว ทำให้การพายในลำน้ำภาชีตอนบนนี้เป็นไปอย่างนิ่งเนิบ สบาย ๆ รับลมชมวิวกันไป ขณะที่ชายหนุ่มอกสามศอก 2-3 คน กำลังพลิ้วอยู่กับการเหวี่ยงเบ็ดตกปลาแบบ Fly Fishing ท่ามกลางแสงแดดอ่อน ละมุนที่สาดจับผิวน้ำเป็นประกายวิบวับ
ตรงกันข้ามกับสายน้ำภาชีตอนบน เมื่อเรานั่งรถออกจากบ้านพุระกำมายังบ้านไร่ไทรงาม ซึ่งเป็นช่วงของลำน้ำภาชีตอนล่าง ก้อนหินน้อยใหญ่ก่ายกองขวางลำน้ำอย่างไม่เป็นระเบียบ เกิดแก่งเล็กแก่งน้อยอยู่ทั่วไป ซึ่งก็ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเปลี่ยนอารมณ์จากการชิลในรีสอร์ทให้อะดรีนาลินหลั่งด้วยการพายคายักล่องแก่งท้าทาย
ทันทีที่คายักของเราตั้งลำตรงรับกระแสน้ำที่แหวกผ่านลำเรียวของเรือ แล้วค่อย ๆ พายออกมาได้ไม่ไกลนักจากจุดเริ่มต้นใต้สะพานบ้านไร่ไทรงาม แก่งขนาดเล็กที่ระเกะระกะไปด้วยกิ่งก้านต้นไม้รายทางก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า เราจ้วงพายส่งเรือลงแก่งในทันใด เห็นแก่งเล็กอย่างนี้อย่าดูถูกกันเชียว เพราะทันทีที่เรือลงแก่งก็เจอทางเลี้ยวหักมุมจนจ้วงพายเพื่อเบี่ยงออกจากตลิ่งแทบไม่ทันเลยทีเดียว
ล่องแก่งเล็กแก่งน้อยต่อเนื่องสลับกับทางน้ำนิ่งยาว ๆ มาเกือบ 2 ชั่วโมง เมื่อถึงโค้งที่สายน้ำไหลเอื่อย ก็เห็น คุณอั๋น เจ้าของผาปก อีโค รีสอร์ท ยืนเหวี่ยงเบ็ดเท่ ๆ รออยู่ เราจึงคัดทายพายจ้วงล่งเรือเทียบตลิ่งพาตัวที่เปียกปอนหลังจากตกแก่ง (เล็ก ๆ) เมื่อครู่ก่อนขึ้นไปนั่งตากลมอยู่ ท้ายกระบะท่ามกลางกองเสื้อชูชีพอย่างสบายใจ
ยังมีอีกกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติที่ไม่ยากเกินไป นั่นคือ การเดินป่าในเส้นทางน้ำตกผาแดง ตรงช่วงกลาง ๆ ของเขากระโจม เป็นเส้นทางเดินสายเล็ก ซึ่งทางช่วงแรกนั้นชัดเจน เพราะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปยังน้ำตกผาแดง ระยะทางราว 200 เมตร ใช้เวลาจากจุดจอดรถมาถึงน้ำตก ประมาณ 10 นาทีเท่านั้นเอง แต่ถ้าอยากเดินไกลกว่านี้ ก็มีเส้นทางต่อไปจากน้ำตก โดยเมื่อผ่านพ้นดงไผ่แล้วจะเป็นทางชันขึ้นลงตามลาดไหล่เขา นับเป็นเส้นทางที่ได้สัมผัสธรรมชาติโดยไม่เหนื่อยจนเกินไป
ขึ้นยอดหนึ่งพันบนลันดา
ตีห้าครึ่งคือเวลาที่เรานัดหมายกับ ลุงเปี๊ยก นักขับฝีมือดี หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มรักษ์เขากระโจม ซึ่งให้บริการขับรถโฟร์วีลไดรฟ์ขึ้นไปชมทะเลหมอกและดูดวงอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขากระโจม อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส กับสายลมหนาวที่พัดผ่าน ทำให้เราตัดสินใจนั่งในรถแทนที่จะตากลมชมดาวอยู่ตรงกระบะเหมือนเมื่อคืนวาน
เช้าตรู่นี้ไม่ได้มีเพียงรถกระบะของเรา ยังมีคันอื่น ๆ แล่นนำและแล่นตามอยู่ห่าง ๆ นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาถึงสวนผึ้งไม่ยอมพลาดการขึ้นไปชมทะเลหมอกขาวฟูฟ่องในหุบเขาและแสงแรกของตะวัน เราจึงมีเพื่อนร่วมทาง แตกต่างจากเย็นวานซึ่งมีเพียงคณะเราที่ฝ่าทางชันขึ้นไปบนยอดสูงเฉลี่ย 1,000 เมตรนี้
ทางสูงชันและคดเคี้ยวระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เฉพาะรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นในการบุกบั่นขึ้นไป เป็นทางลาดยาง 3 กิโลเมตรในช่วงแรก จากนั้นจึงเป็นทางลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมหล่มลึก อีกทั้งยังมีช่วงที่เส้นทางจมหายไปในลำธาร ซึ่งเมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้วคงยากจะหาใครกล้าขับรถตะลุยลงไป หากไม่เคยขับผ่านเส้นทางนี้มาก่อน
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่สวนผึ้งเคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ดีบุกตั้งแต่ พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา เส้นทางขุนเขากระโจมนับว่าสมบุกสมบันกว่าปัจจุบันเป็นร้อยเท่า แม้กระทั่งใน พ .ศ. 2500 จะมีการปรับปรุงทางให้รถวิ่งขึ้นไปได้เป็นครั้งแรกแต่ก็ยังลำบากลำบนอยู่มากต้องใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมง ทีเดียวในการไปถึงยอดเขา ซึ่งขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ เขาลันดา (เพี้ยน มาจาก "คู้หล่องหลั่งดา" ภาษากะเหรี่ยง อันมีความหมายว่า "ภูเขาที่มีที่ราบ") ขณะที่ทุกวันนี้ ใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้นเอง
เมื่อฟ้าเริ่มสว่าง เราก็ขึ้นมาถึงลานจอดรถบนยอดเขากระโจม ซึ่งตอนนี้มีรถโฟร์วีลไดรฟ์กว่าสิบคันจอดเรียงรายเป็นระเบียบ จึงไม่ต้องประหลาดใจเลยเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวมากมายอยู่บนลานที่ราบหลังสำนักงานของหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน 137 ทุกคนยืนอาบลมหนาวดูทะเลหมอก กด ๆ ๆ ๆ ชัตเตอร์กล้อง แล้วรอจนดวงอาทิตย์สาดแสงก่อนจะทยอยกันลงไป
ประมาณ 7 โมงเช้าก็แทบไม่มีรถคันใดหลงเหลืออยู่ในลานจอดรถ ซุ้มขายเครื่องดื่มร้อน ๆ และบะหมี่สำเร็จรูปกลับสู่ความเงียบ หลังจากถูกรุมล้อมด้วยนักท่องเที่ยวเมื่อชั่วโมงก่อน นึกย้อนกลับไปถึงเย็นวาน หลังจากตะวันลับฟ้า ความมืดเข้าปกคลุมพร้อม ๆ กับอุณหภูมิที่ลดลง ลานกว้างนั้นร้างไร้ผู้คน แต่เรายังอ้อยอิ่งอยู่ใต้ฟ้าสีน้ำเงินจัด รอจนกระทั่งรอบตัวมืดมิดแล้วจึงขึ้นรถเพี่อเดินทางกลับลงไป
เมื่อคืนวานขากลับรถแล่นช้ากว่าตอนขึ้นเขา แสงสปอตไลท์ในมือเจ้าถิ่นสาดส่องวาบ ๆ วับ ๆ สลับไปตามถนนพุ่มไม้ข้างทางและบนต้นไม้สูง ความสงัดทำให้บรรยากาศแห่งการส่องสัตว์ยามค่ำคืนดูช่างน่าตื่นเต้น ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เราอาจเห็นขณะกวาดตามองตามแสงสปอตไลท์ คือ กวางม้า ซึ่งหลายคนเคยเห็นมันออกมายืนกลางถนนสายนี้ในยามค่ำคืน หรืออาจเป็นอีเห็นตัวเล็ก ๆ บนต้นไม้ แต่ก็นั่นล่ะ...การได้พบเห็นสัตว์ในป่า มันน่าตื่นเต้นกว่าไปยืนดูหน้ากรงเป็นไหน ๆ
แล้วในที่สุดฉันก็ได้เห็นกวาง ม้า ซุกซ่อนตัวอยู่ในดงหญ้า หลังจากรถแล่นเลาะเข้าไปในทางแยกสายเล็ก แววตาสีเขียวเรืองที่สะท้อนแสงสปอตไลท์อยู่ห่างไปราว 10 เมตร เมื่อมองแววตาคู่นั้น ฉันรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ราวกับได้ค้นพบความพิเศษในผืนป่ากว้าง ขณะที่เบื้องบนฟากฟ้าก็ดารดาษไปด้วยดวงดาวพราวพราย
ลมหนาวต้นฤดูพัดพรูจนต้องกระชับเสื้อกันหนาวให้แนบตัวยิ่งขึ้น อุ่นกายและอิ่มใจไปพร้อมกัน เมื่อพบว่าพงไพรไม่ไกลเมืองยังมี "ชีวิต" เป็นสวนผึ้งอีกมุมที่คุ้มค่าต่อการเดินทางเข้ามาเยือน
บรรณานุกรม
สุรินทร์ เหลือลมัย. (2548). ปิดตำนานเหมีองแร่ที่สวนผึ้ง.
วารสารเมืองโบราณ. ปี 2548 ฉบับที่ 31.4
ขอขอบคุณ
คุณพิสิฐ กองลำเจียก และพนักงานมากไมตรี ผาปก อีโค รีสอร์ท
ลุงเปี๊ยกและคุณพงษ์ กลุ่มรักษ์เขากระโจม
คุณธัชรวี หาริกุล และคุณลลิตา ศรีไพบูลย์ สำหรับการอำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้
คู่มือนักเดินทาง
ภายในเต็นท์กว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ให้อารมณ์ผจญภัย และอบอุ่นสบายไปพร้อมกัน
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ สะดวกที่สุด คือ การเดินทางโดยรถส่วนตัว ไปได้ 2 ทาง คือ
1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านพุทธมณฑล นครปฐม ราชบุรี ผ่านแยกเขางูมาถึงแยกเจดีย์หัก ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 ผ่านอำเภอจอมบึงสู่อำเภอสวนผึ้ง
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามสอง) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม แล้วเลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านเขตอำเภอปากท่อ ราชบุรี เขาแก่นจันทร์ จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3208 สู่อำเภอสวนผึ้ง
นอนเต็นท์ เล่นกิจกรรม
ผาปก อีโค รีสอร์ท คือ ที่พักในอ้อมกอดของธรรมชาติ มีเต็นท์ขนาดใหญ่จำนวน 10 หลัง สะดวกสบาย ด้วยที่นอนนุ่ม ตู้เย็น พัดลม ผาเช็ดตัว ใช้ห้องน้ำรวม ซึ่งแยกส่วนหญิง-ชาย ออกแบบสวยเท่และสะอาดสะอ้าน ค่าที่พัก คืนละ 2,500 บาท พักได้ 2 คน รวมอาหารเช้า (ไม่รวมกิจกรรม)
กิจกรรมเด่น ๆ ที่ผาปก อีโค รีสอร์ท ให้บริการ คือ พายคายักในลำน้ำภาชี ขี่จักรยาน ยิงธนู เดินป่า ตกปลาแบบฟลายฟิชชิง ราคาขึ้นอยู่กับจุดที่จะไปและเวลาในการทำกิจกรรม
พิกัดจีพีเอส N13.5725 E99.224167
ติดต่อสอบถาม
เที่ยวผจญภัยเชิงอนุรักษ์ นอนเต็นท์บนเนินเขา ติดต่อผาปก อีโค รีสอร์ท โทรศัพท์ 080-4239988 และ 083-1559889 เว็บไซต์ www.facebook.com/PhapokEcoResort
เรียนรู้วิถีเกษตรพอเพียง ติดต่อฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ บานบ่อหวี โทรศัพท์ 087-0349588
นั่งโฟร์วีลขึ้นเขากระโจม ติดต่อคุณดายุ สีเสวก ประธานกลุ่มรักษ์เขากระโจม โทรศัพท์ 087-1358623 ลุงเปี๊ยก โทรศัพท์ 089-0516292
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 54 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น
(
Atom
)
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น